วิธีการปลูกกล้วย

   การปลูกกล้วยหอมทอง ....สูตรคุณยาว

1. การเตรียมดิน ปลูกกล้วยหอมทอง กล้วยสามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน ขอเพียงมีน้ำรดเมื่อพืชต้องการน้ำและสามารถระบายน้ำได้เมื่อถึงฤดูฝนที่มีน้ำเกินความต้องการของพืช พื้นที่ที่มีโอกาสน้ำขัง หรือน้ำแช่ไม่เหมาะกับการปลูกกล้วย

    1) ที่นาควรยกร่องกว้าง 1 เมตร และปลูกบนหลังร่อง

    2) ที่ไร่ สามารถปลูกได้เลยโดยไม่ต้องยกร่อง

ระยะปลูกที่แนะนำคือ 2x2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 400 ต้น การไถตากดินก่อนปลูกจะช่วยกำจัดวัชพืชและเชื้อโรคในดิน ช่วยให้ดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี การไถดะโดยใช้ผาน 3 ไถตากดินไว้ประมาณ 5-7 วันเป็นอย่างน้อย จากนั้นไถแปรโดยใช้ผาน 7 ก่อนทำการปลูกโดยขุดหลุมลึกประมาณ 20 เซนติเมตร  กว้าง 20 เซนติเมตร ไม่ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมเพราะอาจทำให้เกิดรากเน่าได้

     เมื่อได้หน่อมาแล้วควรปลูกทันที หากไม่พร้อมปลูกควรเก็บไว้ในร่ม และรดน้ำ หากจะเก็บหน่อไว้นานเกิน 3 วันควรนำหน่อปักชำไว้ในดิน โดยขุดหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เอาบริเวณเหง้าของหน่อกล้วยลงไปประมาณครึ่งหัวแล้วกลบและรดน้ำวันละครั้งไม่ควรชำไว้นานเกิน 1 เดือน


เทคนิคการปลูกกล้วย ให้ได้คุณภาพดี

2. การปลูกกล้วยหอมทอง จำแนกการปลูกออกเป็น 4 แบบคือ

  1) การปลูกกล้วยหอมทอง โดยการไถยกร่อง ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร เหมาะสำหรับพื้นที่ลุ่มลักษณะเป็นที่นามาก่อน โดยจะปลูกกล้วยบนร่องดังกล่าว

  2) การปลูกกล้วยหอมทอง โดยการไถยกร่องแต่ปลูกกล้วยในร่อง และให้น้ำโดยการปล่อยน้ำไหลไปตามร่องที่ปลูกกล้วย เหมาสำหรับพื้นที่ราบและมีความลาดเอียงเล็กน้อย

  3) การปลูกกล้วยหอมทอง โดยไม่ยกร่อง เหมาะสำหรับพื้นที่ไร่ที่ไม่มีน้ำขังในฤดูฝน เช่นที่ราบ ที่เชิงเขา

  4) การปลูกกล้วยหอมทอง โดยการขุดร่องน้ำ เหมาะสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำมีน้ำขังตลอดปี มีระบบชลประทานเพียงพอ และลักษณะดินเป็นดินเหนียว เพราะดินทรายอาจทำให้เกิดการพังทลายของร่องน้ำได้ง่าย

 

เปิดดู  คลิป VDO สอนปลูกกล้วย

 

3. ระบบน้ำสวนกล้วย

      กล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ และขาดน้ำไม่ได้ การให้น้ำควรสังเกตหน้าดิน เมื่อดินแห้งก็ควรรดน้ำ หากให้น้ำไม่เพียงพอจะทำให้ต้นกล้วยและผลผลิตที่ได้ ไม่สมบูรณ์ หักล้มง่าย ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “กล้วยหักคอ” ซึ่ง ระบบการให้น้ำกล้วย แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบดังนี้

 

  1)      ระบบสปริงเกอร์....ดีที่สุดสำหรับที่ราบ

  2)      ระบบน้ำท่วมร่อง(น้ำไหลไปตามร่อง) หรือน้ำราด

  3)      ระบบน้ำหยด (ควรเดินสายน้ำหยด 2 เส้นคู่ต่อกล้วย 1 แถว)

  4)      ระบบน้ำพุ่ง ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีหญ้าค่อนข้างรก เพราะหญ้าจะบังรัศมีของน้ำที่พุ่งออกจากสายไปยังกล้วย

  5)      ใช้เรือรดน้ำ (ร่องสวน) เหมาะสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ มีน้ำขังตลอดปี 

 

 

4. เทคนิคการดูแลกล้วยหอมทอง ตามอายุ


+++1 เดือน ตั้งแต่เริ่มปลูกกระทั่งอายุครบ 1 เดือนต้นกล้วยจะสูงประมา 30 เซนติเมตร ควรใส่ปุ๋ยคอก ประมาณต้นละ 1 ถ้วยแกง หรือใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ในอัตราต้นละ 1 กำมือร่วมด้วย และรดน้ำตามทันที ไม่ควรใส่ชิดโคนต้นมากเพราะอาจทำให้โคนเน่าได้

+++2 เดือน ในช่วงอายุนี้แปลงกล้วยจะเริ่มมีหญ้า ให้ทำการกำจัดโดยใช้เครื่องตัดหญ้า ตัดให้สั้น จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 และรดน้ำตามทันที เมื่อกล้วยอายุครบ 2 เดือนควรทำการกลบโคนต้น ไม่ให้โคนลอย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างรากใหม่ ทำให้การเจริญเติบโตทำได้ดีขึ้น (ไม่ควรใช้ยากำจัดวัชพืชหากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจส่งผลทำให้กล้วยแคระแกรนหรือตายได้)

 

           

 

+++3 เดือน ให้สังเกตต้นกล้วยหากพบใบเหลือง หรือใบเสียให้ตัดแต่งทิ้้ง โดยปกติจะเป็น 1-2 ใบล่าง ใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 2 ถ้วยแกงต่อ 1 ต้น โรยบริเวณโคนต้นให้ห่างจากต้นประมาณ 1 คืบ และปุ๋ยสูตร 25-7-7 ต้นละ 1 กำมือ

+++4 เดือน ให้สักเกตในแปลงหากมีหญ้า ให้ทำการกำจัดโดยใช้เครื่องตัดหญ้า ตัดให้สั้น หรือใช้ยาฆ่าหญ้าชนิดเผาไหมฉีดพ่นได้ แต่่ต้องระวังไม่ให้ละอองยาสัมผัสต้นและใบกล้วยจากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 สูตรใดก็ได้ ประมาณ 1 กำมือ และรดน้ำตามทันที และทำการกลบโคนต้นเหมือนตอนอายุ 2 เดือน

+++5 เดือน ช่วงนี้กล้วยต้องการสะสมอาหารเพื่อนำไปสร้างปลี ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ผสมกับปุ๋ยสูตร 13-13-21 ต้นละ 1 กำมือ หากมีปัญหาแมลงศัตรูพืชเช่นหนอนม้วนใบ แนะนำให้ใช้ยา คลอไพรีฟอส+ไซเปอร์เมทริล และยาอิมิดาคลอพริด สำหรับปัญหาเพลี้ย 

+++6 เดือน เมื่อกล้วยอายุได้ 6 เดือนจะต้องทำการค้ำต้น โดยใช้ไม้ไผ่ ยาวประมาณ 3.5-4 เมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นกล้วย การค้ำเป็นการช่วยพยุงลำต้นให้รับน้ำหนักเครือกล้วยได้ดี ไม่ให้หักก่อนถึงเวลาตัด โดยจะเริ่มสังเกตุเห็นกล้วยเริ่มตกเครือ มีปลีกล้วยโผล่ออกมาบริเวณยอด เมื่อลูกกล้วยเริ่มตั้งควรทำการห่อเครือกล้วยเพื่อให้กล้วยมีผิวสวย และทำการตัดปลีในวันเดียวกันที่ทำการห่อกล้วย ควรตัดปลีให้ต่ำลงจากหวีสุดท้ายอย่างน้อย 1 คืบ และใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือสูตร 13-13-21 ต้นละ 1-2 กำมือ


 +++ไม่ควรตัดแต่งใบกล้วยออกจากต้น หากเกิดปัญหาเชื้อรากินใบ ควรใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราดีกว่าการตัดใบทิ้ง

 +++ในหนึ่งต้นควรมีใบดีติดอยู่ที่ลำต้น 10-12 ใบเป็นอย่างน้อยเพื่อจะได้เครือกล้วยที่สมบูรณ์

 +++พื้นที่ที่มีโอกาสน้ำขัง น้ำแช่ ระบายน้ำยาก พื้นที่เปียกชื้นตลอดเวลาไม่เหมาะกับการปลูกกล้วยทุกชนิด

เทคนิคการตัดปลีกล้วยและข้อควรระวัง   

           

 

 

         


+++7 เดือน ผลกล้วยเริ่มใหญ่ขึ้น ควรเร่งขนาดผลกล้วยโดยใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ต้นละ 1 กำมือ

+++8 เดือน เป็นช่วงเริ่มการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับต้นที่่สมบูรณ์จะเริ่มตัดได้ก่อน ปริมาณจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และความสม่ำเสมอของต้น และจะทยอยตัดในเดือนต่อๆ ไปจนหมดแปลง

+++9 เดือน เป็นเดือนของการเก็บเกี่ยวผลผลิต (มากกว่า 50%) เกินครึ่งของกล้วยทั้งแปลงจะได้เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนนี้

+++10 เดือน ผลผลิตชุดสุดท้ายจะได้เก็บเกี่ยวในช่วงนี้ (ประมาณ 10%) เพราะความสมบูรณ์ของต้น ความสม่ำเสมอของปุ๋ยและน้ำมีผลให้ต้นที่ได้รับการดูแลได้ไม่ดีพอให้ผลผลิตได้ล่าช้ากว่าปกติ

5. โรคและแมลงศัตรูในกล้วย  

เรื่องโรคและแมลงศัตรูในกล้วยที่พบบ่อยได้แก่

         1.      โรครากเน่าโคนเน่า สาเหตุเกิดจากความชื้นในดินสูงเกินไป อาจเป็นเพราะการรดน้ำในปริมาณมากเกินที่พืชต้องการ หรือมีฝนตกชุก ดินไม่สามารถระบายน้ำได้ดี ทำให้รากกล้วยเกิดการเน่าและมีการเข้าทำลายจากเชื้อราหรือแบคทีเรียบางชนิด

         2.      โรคเชื้อรากินใบกล้วย สาเหตุ เกิดจากความชื้นและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทำให้เกิดโรค สังเกตได้จากใบกล้วยจะมีจุดสีน้ำตาลและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อีกอาการคือที่ขอบใบมีร่องรอยของใบแห้งจากขอบใบลามไปหากลางใบ

         3.      หนอนกอกล้วย คือตัวอ่อนของด้วงงวง ที่ฟักออกมาจากไข่แล้วอาศัยอยู่ในกอกล้วย โดยจะกัดกินใส้ในของหน่อกล้วยเป็นอาหาร ทำให้กล้วยไม่มียอดใหม่แทงขึ้นมา หนอนกอดังกล่าวจะเจริญจนกลายเป็นตัวเต็มไวแล้วจึงออกมา ผสมพันธุ์และกลับไปวางไข่ใส่หน่อกล้วยอีกครั้ง หากไม่ขุดหน่อมาดูจะสังเกตได้ยากว่ามีการเข้าทำลายแล้วหรือยัง

         4.      หนอนม้วนใบ มักพบเจอบ่อยในกล้วยน้ำว้า โดยหนอนจะทำรังและกัดใบกล้วย แล้วม้วนใบให้เกินความเสียหาย ถ้าพบเจอควรเร่งทำลายทิ้ง


แนวทางแก้ไขปัญหาเชื้อรากินใบ

 +++ควรหมั่นสังเกตแปลงกล้วยในทุกช่วงอายุ หากพบว่าใบกล้วยมีเชื้อราเข้าทำลาย ต้องฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัด เชื้อรา ยาที่แนะนำ ชื่อสามัญ ไดฟีโนโคนาโชล ( difenoconazole ), โพรพิโคนาโชล ( propiconazole ) , อะซ็อกซีสโตรบิน (azoxystrobin) , โพรพิเนบ (propineb) , คาร์เบนดาซิม (carbendazim)


การเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อกล้วยโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ กรรมวิธีการตัดกล้วยและจัดการกับผลผลิตกล้วยค่อนข้างสำคัญ จะได้ราคาดีหรือไม่ขึ้นอยู่ในช่วงนี้

1) การคัดเลือกเครือที่ต้องการ โดยสังเกตุจากลักษณะผลกล้วยทั้งเครือ

2) วิธีการตัดที่ถูกต้องและให้เกิดการบอบช้ำน้อยที่สุดเพื่อลดการสูญเสียผู้ตัดควรมีความรู้ความชำนาญ

3) การลำเลียงขนย้ายผลผลิต ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันริ้วรอยจากกันการกระทบ กระแทกและขีดข่วน ควรใช้วัสดุกันกระแทก


            

 

เป็นแนวทางให้เลือกประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และความพร้อมของแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพไม่มีสูตรเฉพาะตายตัว
 

 

สนใจปรึกษาเทคนิคการปลูกกล้วยหอมทองโดยละเอียดติดต่อ

คุณยาว กล้วยหอมทองปทุม

092-548-8631

Line id:  @Y9999

Facebook fanpage: กล้วยหอมทองปทุม 0925488631 คุณยาว

จำหน่ายพันธุ์กล้วย ส่งเสริมปลูกและรับซื้อผลผลิตคืน สนใจรับทราบรายละเอียดเพื่อเป็นสมาชิก.....ติดต่อมาครับ

กล้วยน้ำว้า

  


 

       ขอบพระคุณที่ช่วยแชร์ครับ                                      

Visitors: 850,479